โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปีงบประมาณ 2554-2560

 

1. สรุปสาระสำคัญของโครงการ

         ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ถูกออกแบบให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน ต่อปีเมื่อเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2549 ในขณะที่ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ทสภ. ในเวลาดังกล่าวมีปริมาณ 43 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 46 ล้านคนต่อปี ในปี 2550 โดยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

         คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เห็นชอบในหลักโครงการพัฒนา ทสภ. (ปีงบประมาณ 2554-2560) วงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี และบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 


2. รายละเอียดโครงการ 

    โครงการพัฒนา ทสภ. (ปีงบประมาณ 2554-2560) ประกอบด้วยงาน 4 กลุ่มงาน

        2.1 กลุ่มงานอาคารเที่ยบเครื่องบินรองหลังที่ 1

             2.1.1 งานออกแบบและก่อสร้างงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

                     วัตถุประสงค์

                     เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารเทียบเครื่องบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 60 ล้านคนต่อปี และสามารถเพิ่มการให้บริการหลุมจอดอากาศยานประชิดอาคารสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศอีก 28 หลุมจอด โดย 8 หลุมจอดสามารถรองรับอากาศยานขนาด Code F (เช่น A380 และ B747-8 เป็นต้น) และ 20 หลุมจอดสามารถรองรับอากาศยาน ขนาด Code E (เช่น B747 และ A340 เป็นต้น) เพื่อยกระดับการให้บริการให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินให้ได้รับความสะดวก สบายมากขึ้น 

                    เป้าหมาย 

                    ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง (Midfield Satellite) หลังที่ 1 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านกิจกรรมการบินอย่างครบถ้วน รวมทั้งสะพานเทียบเครื่องบิน (PLB) ระบบช่วยนำอากาศยานเข้าหลุมจอด (Docking Guidance) ระบบจัดการการใช้หลุมจอด (Gate Assignment) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และระบบลำเลียงกระเป๋า (Baggage Handling) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 โดยมุ่งให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ อาคารเทียบเครื่องบินรองมีลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีจำนวนประตูทางออกที่เชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด Code F (เช่น A380 และ B747-8 เป็นต้น) ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยาน ขนาด Code E (เช่น B747 และ A340 เป็นต้น) ได้ 20 หลุมจอด

           2.1.2 งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

                   วัตถุประสงค์

                   เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการลานจอดอากาศยานประชิดอาคารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีคุณภาพบริการเทียบเท่ามาตรฐานสากล

                   เป้าหมาย

                   ก่อสร้างอากาศยานเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อรองรับหลุมจอดอากาศยาน จำนวน 28 หลุมจอด โดยทั้งหมดเป็นหลุมจอดประชิดอาคารสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดย 8 หลุมจอดสำหรับรองรับอากาศยาน ขนาด Code F (เช่น A380 และ B747-8 เป็นต้น) และ 20 หลุมจอด สำหรับรองรับอากาศยาน ขนาด Code E (เช่น B747 และ A340 เป็นต้น) พร้อมก่อสร้างระบบทางขับเพื่อเข้าสู่ลานจอดรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมพื้นที่ประมาณ 960,000 ตารางเมตร

          2.1.3 งานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM)

                  วัตถุประสงค์

                  เพื่อเชื่อมต่ออุโมงค์สำหรับขนส่งผู้โดยสารและกระเป๋าสัมภาระและเป็นช่องทางสำหรับวางระบบสาธารณูปโภคและเป็นถนนภายในเขตการบิน เชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และเพื่อให้มีระบบขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1  (Midfield Satellite Building 1) ได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยไม่กีดขวางกิจกรรมบนทางขับและลานจอดอากาศยาน

                เป้าหมาย 

                 ก่อสร้างอุโมงค์สำหรับส่วนเชื่อมต่อระหว่างปลายอุโมงค์ด้านที่ทำการก่อสร้างในระยะที่ 1 มายังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และสร้างต่อโดยอากาศยานและทางขับด้านทิศใต้ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รวมเป็นความยาวของอุโมงค์ส่วนที่จะสร้างต่อเติมทั้งสิ้นประมาณ 700 เมตร รวมถึงติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

   2.2 กลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร

        2.2.1 งานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก

                วัตถุประสงค์

                เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารหลักของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 60 ล้านคนต่อปี โดยการขยายอาคารผู้โดยสารหลักไปทางทิศตะวันออก ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบายและบริการที่รวดเร็ว

              เป้าหมาย 

               ก่อสร้างส่วนงานขยายอาคารของผู้โดยสารหลัก อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ขนาดกว้าง 108 เมตร ยาว 135 เมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้รวมทั้งสิ้น 60 ล้านคนต่อปี โดยจะทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ตารางเมตร

        2.2.2 งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานของสายการบินและจอดรถด้านทิศตะวันออก

               วัตถุประสงค์

               เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสำนักงานสายการบินและอาคารจอดรถยนต์สำหรับให้บริการรถยนต์ที่มาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารและรถยนต์ของผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเพียงพอกับความต้องการโดยให้อาคารจอดรถหลังนี้มีทางเดินรถเชื่อมต่อกับอาคารจอดรถเดิม และมีสะพานลอยสำหรับเดินเท้าเชื่อมต่อกับชานชาลาด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร

               เป้าหมาย 

               ก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมที่จอดรถยนต์ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถ โดยสร้างเป็นอาคาร 2 ส่วน ด้านหน้าเป็นอาคารสำนักงานสูง 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 35,000 ตารางเมตร โดยจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก (ในส่วนของพื้นที่เช่าจัดให้เฉพาะระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น โดยให้ผู้เช่ามาตกแต่งสำนักงานเอง ) ส่วนด้านหลังเป็นอาคารที่จอดรถ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 5 ชั้น และดาดฟ้าอีก 1 ชั้น พื้นที่ประมาณ 32,000 ตารางเมตร  ซึ่งอาคารจอดรถที่จะสร้างขึ้นนี้จะสามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,000 คัน พร้อมสร้างทางเดินรถเชื่อมต่ออาคารจอดรถที่อยู่ข้างเคียงและสร้างทางเดินเท้าเชื่อมต่อกับชานชาลา ด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร 

              โดยจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีพื้นที่จอดรถได้อีกประมาณ 500 คัน รวมเป็นที่จอดรถที่เตรียมไว้ทั้งสิ้น 6,500 คัน

 

     2.3 กลุ่มงานสาธารณูปโภค

              วัตถุประสงค์

              เพื่อให้มีระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบประปา ระบบน้ำเย็น สำหรับเครื่องปรับอากาศภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทางวิ่งเส้นที่ 3 และระบบขนส่ง (APM) อย่างเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน

              เป้าหมาย

              วางระบบสาธารณูปโภค  ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบประปา ระบบน้ำเย็น สำหรับเครื่องปรับอากาศภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทางวิ่งเส้นที่ 3 และระบบขนส่ง (APM) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV. ต่อเชื่อมระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากการไฟฟ้านครหลวง ด้านทิศใต้ของท่าอาการยานสุวรรณภูมิ เข้าสถานีไฟฟ้าย่อยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ซึ่งจะก่อสร้างใหม่ และก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าที่สอง โดยติดตั้งสวิตช์เกียร์ ขนาด 24 kv. หม้อแปลงไฟฟ้า ระบบควบคุมและสั่งการ SCADA มาที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ทางวิ่งเส้นที่ 3 และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM)และก่อสร้างท่อประปาหลักจากการประปานครหลวงด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเข้าสถานีเก็บน้ำประปาและถังเก็บที่ก่อสร้างใหม่มาที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมทั้งก่อสร้างระบบท่อรับน้ำเสียเชื่อมต่อกับระบบเดิม

 

    2.4 งานจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ

            วัตถุประสงค์

            เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการควบคุมการใช้งบประมาณในโครงการให้อยู่ในกรอบที่กำหนด และการบริหารให้งานมีความก้าวหน้าไปตามแผนงาน และแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนด

           เป้าหมาย

           จัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (Project Management Consultant)(PMC) โดยมีเป้าหมายให้ PMC เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไปจนสิ้นสุดโครงการ เป็นเวลา 58 เดือน

 

3. ระยะเวลาดำเนินการและแผนการดำเนินงาน

       โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560 มีระยะเวลาดำเนินการ 58 เดือนและมีแผนงานตามตารางที่แนบ)

 

4. งบประมาณทั้งโครงการ เป็นเงิน 62,503.214 ล้านบาท

 

5. ผลการดำเนินงาน (ณ เดือนกรกฎาคม 2556)

5.1 ทอท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท EPM Consortium เป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (PMC) มูลค่าสัญญา 575 ล้านบาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มงานวันที่ 1 มิถุนายน 2555 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ระยะเวลาดำเนินงาน 58 เดือน ทั้งนี้ PMC มีขอบเขตการให้บริการดั้งนี้ 

5.1.1 การวิเคราะห์ขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

5.1.2 การบริการจัดการโครงการโดยรวม

5.1.3 การประกันคุณภาพ

5.1.4 การบริหารจัดการงานออกแบบด้านวิศวกรรม

5.1.5 การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารสัญญา

5.1.6 รายงานการควบคุมงบประมาณ/ค่าใช้จ่าย

5.1.7 การบริหารจัดการโครงการ และการรายงานความก้าวหน้า

5.1.8 การบริหารจัดการงานก่อสร้าง

5.1.9 การบริหารทั่วไป และหนังสือโต้ตอบ

 

5.2 ทอท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท MAA 103 GROUP ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอลซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท HOK,Inc บริษัท NACO , NETHERLANDS AIRPORT CONSULTANTS B.V. บริษัท BNP ASSOCIATES, Inc และบริษัท ไวส์ โปร์เจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด  เป็นที่ปรึกษาออกแบบกลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 โดยเริ่มงานวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีระยะเวลาการให้บริการ 10 เดือนกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 15 มีนาคม 2557 มูลค่างานตามสัญญา 675,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 

 

5.3 ทอท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท SADC2 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชีย เทคโนโลยี่ จำกัด บริษัท ออเรคอล คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อาคิเตคส์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด บริษัท แอค คอน ซัลส์แทนส์ จำกัด บริษัท CAGE Inc. บริษัท เฟปรัวร์ อิมเมจ จำกัด เป็นที่ปรึกษาออกแบบกลุ่มงานอาคาร ผู้โดยสาร โดยเริ่มงานวันที่ 17 มิถุนายน 2556 มีระยะเวลาการให้บริการ 10 เดือน กำหนดแล้วเสร็จ 16 เมษายน 2557 มูลค่าสัญญา 138,990,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 

 

5.4 ทอท. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท PSS Consortium ซึ่งประกอบด้วย บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด  บริษัท สแปน จำกัด บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชีย เทคโนโลยี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาออกแบบกลุ่มระบบงานสาธารณูปโภค ภายใต้สัญญาเลขที่ 8CI9-561002 โดยเริ่มงานวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีระยะเวลาการให้บริการ 10 เดือน กำหนดแล้วเสร็จ 15 มีนาคม 2557